http://www.amuletsale4u.com/?cid=245312
ลักษณะพระพุทธรูปสมัยต่างๆ
ตั้งแต่มีพระพุทธรูปเกิดขึ้นในคันธารราฐ เมื่อระหว่าง พ.ศ. ๓๖๓-๓๘๓ แล้ว ความนิยมบูชาพระพุทธรูปก็แพร่หลายลงมาทางใต้ จนชาวมคธและมณฑลอื่นละคติเดิมที่ถือว่าไม่ควรสร้างรูปเคารพ พากันเลื่อมใสในการสร้างพระพุทธรูปทั่วไปในประเทศอินเดีย ประเทศทั้งหลายภายนอกอินเดียที่ได้รับพระพุทธศาสนาไว้แต่ครั้งพระเจ้าอโศกก็คงจะได้รับลัทธินิยมการสร้างพระพุทธรูปกันขึ้นทั่วไปตามกาลสมัย แต่แบบอย่างพระพุทธรูปที่คิดขึ้นครั้งแรกและครั้งพระเจ้ากนิษกะนั้น เป็นของทำขึ้นตามความเห็นว่าดีงามของช่างกรีกซึ่งเป็นชาวต่างประเทศ จะทำให้ชาวอินเดีย หรือชาวประเทศอื่นนอกอินเดียเห็นสวยงามไปด้วยทุกอย่างนั้นไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่ต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกิดขึ้นตามความเห็นของชาวต่างประเทศนั้นๆ เช่นพระพุทธรูปกรีก ทำพระศกเป็นเส้นอย่างผมคนสามัญ ชาวอินเดียเห็นว่าไม่สวยหรือไม่ถูก แก้ไขทำเส้นพระศกเป็นอย่างก้นหอย หรือจีวรซึ่งชาวไทยโยนกทำเป็นจีวรริ้ว ชาวอินเดียแก้เป็นจีวรบางๆไม่มีริ้ว แนบติดกับพระองค์ และที่สุดพระพักตร์ซึ่งพวกกรีกทำอย่างพระพักตร์เทวรูปของเขา ชาวอินเดียก็เปลี่ยนให้เป็นอย่างหน้าคนอินเดียเป็นต้น โดยนัยนี้ ประเทศทั้งหลายที่ได้รับแบบอย่างการสร้างพระพุทธรูปไป ก็คงจะได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงไปแห่งละเล็กละน้อย นี่เองเป็นมูลเหตุเกิดแบบอย่างพระพุทธรูปฝีมือช่างในประเทศต่างๆขึ้น จะกล่าวแต่ฝีมือช่างในประเทศสยามสืบต่อไป
สมัยทวารวดี
(ระหว่าง พ.ศ. ๑๐๐๐ - ๑๒๐๐)
ประเทศสยามเป็นส่วนหนึ่งของสุวรรณภูมิประเทศ ซึ่งปรากฎในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกว่า พระโสณะและพระอุตตรเถระ ศาสนทูตของพระเจ้าอโศก ได้เป็นผู้นำพระพุทธศาสนามาเผยแผ่ ข้อนี้มีโบราณวัตถุที่พบในจังหวัดนครปฐมเป็นเครื่องประกอบอยู่หลายสิ่ง เช่น พระสถูปรูปทรงบาตร์คว่ำ และเสมาธรรมจักรกับกวางหมอบ ซึ่งเป็นของทำแทนพระพุทธรูปในสมัยยังไม่มีคตินิยมสร้างองค์พระพุทธรูปขึ้นเคารพบูชา คติที่สร้างสิ่งอื่นแทนรูปเคารพอันเป็นคติในอินเดียครั้งพระเจ้าอโศกนั้น ได้มามีแพร่หลายขึ้นที่จังหวัดนครปฐม เพราะฉะนั้นจึงน่าเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ชาวจังหวัดนครปฐมจะได้รับลัทธิพระพุทธศาสนามาแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นแน่ เมื่อเชื่อว่าศาสนทูตครั้งพระเจ้าอโศกจะมาถึงสุวรรณภูมิจริงแล้ว ก็ควรจะเชื่อด้วยว่าศาสนทูตครั้งพระเจ้ากนิษกะ ก็ได้มาถึงสุวรรณภูมิเหมือนกัน ข้อนี้ก็เพราะมีโบราณวัตถุที่พบในจังหวัดนครปฐมเป็นหลักฐานยืนยันอยู่ เช่น สถูปมหายานจารึกคาถา เย ธมฺมา ฯ ด้วยตัวอักษรและภาษาสันสกฤตกับทั้งพระพิมพ์มหายานอีกมากหลาย แต่แบบอย่างพระพุทธรูปที่พบในจังหวัดนครปฐมนั้น มีลักษณะคล้ายกับพระพุทธรูปอินเดียครั้งราชวงศ์คุปตะ (พ.ศ. ๘๖๐ ถึง พ.ศ. ๑๑๕๐) ก็คงจะเป็นเพราะมีผู้นำแบบอย่างพระพุทธรูปสมัยนั้นเข้ามาในประเทศนี้ ชาวประเทศนี้เห็นสวยงามก็นิยมทำตามอย่างกันขึ้น
ที่ทางโบราณคดี เรียกพระพุทธรูปแบบนี้ว่า สมัยทวารวดี นั้น ก็เพราะเมื่อราว พ.ศ. ๑๑๕๐ มีจดหมายเหตุจีนกล่าวถึงอาณาจักรใหญ่อันหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในระหว่างเมืองศรีเกษตร์(พม่า) และเมืองอีศานปุร(เขมร) ว่าชื่อ ทวารวดี ตรงกับชื่ออาณาจักรอันหนึ่งในประเทศสยามส่วนข้างใต้ในสมัยนั้น คือท้องที่ซึ่งเคยกำหนดเป็นมณฑลกรุงเทพฯ มณฑลอยุธยา มณฑลนครชัยศรี มณฑลราชบุรี มณฑลนครสวรรค์ มณฑลพิษณุโลก และมณฑลปราจิณ ราชธานีเห็นจะอยู่ที่นครปฐมบัดนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อพระเจ้าอู่ทองทรงสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของประเทศสยาม จึงขนานนามว่า " กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา " ซึ่งให้หมายความว่า " ศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรทวารวดี " ดังนี้ อย่างไรก็ดี ในบัดนี้นักปราชญ์ทางโบราณคดีทั้งไทยและต่างประเทศ ได้เรียกพระพุทธรูปแบบนี้ว่าเป็นของสมัยทวารวดีกันทั่วไปแล้ว
พระพุทธรูปแบบนี้พบมากในมณฑลนครชัยศรี มณฑลราชบุรี มณฑลอยุธยา และมณฑลปราจิณ แต่ยังมีอีกแห่งหนึ่งซึ่งได้พบมากเหมือนกัน คือที่ตำบลวังปลัด อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ มณฑลนครราชสีมา ที่ในลำน้ำมูล ตรงนั้นได้พบพระพุทธรูปแบบสมัยทวารวดีมาก คล้ายกับว่าเป็นบ้านที่หล่อทีเดียว เป็นเค้าเงื่อนน่าจะสันนิษฐานว่า กรุงทวารวดีแผ่อาณาจักรออกไปถึงนครราชสีมาด้วย
ลักษณะพระพุทธรูปสมัยทวารวดี
พระพุทธรูปสมัยนี้ ทำด้วยศิลาดินเผาและโลหะ แต่จะทำด้วยวัตถุอย่างใดก็ตาม ลักษณะคงละม้ายคล้ายคลึงกันทั้งนั้น คือเกตุมาลาเป็นต่อมสั้น ขมวดพระเกตุโตและป้าน ไม่มีไรพระศก พระนลาตคดเคี้ยว หลังพระเนตรนูนจนเกือบได้ระดับกับพระนลาต พระโขนงยาวเหยียด พระพักตร์แบนกว้าง พระโอษฐ์แบะ พระหนุป้าน จีวรบางแนบติดกับพระองค์ สังฆาฏิมีทั้งอย่างสั้นเพียงพระถัน และยาวเลยลงมาจนจรดพระนาภี พระหัตถ์และพระบาทใหญ่ บัวรองฐานกลีบใหญ่ กลางกลีบมักเป็นสัน มีกลีบเล็กแซม มีทั้งบัวคว่ำบัวหงาย และบัวหงายอย่างเดียว เกสรหยาบ พระยืนโลหะมักมีประภามณฑล และพระนั่งมักมีเรือนแก้วด้วย มี ๒ ยุค คือ
ยุคแรก พระพักตร์ยาวและกลมกว่ายุคหลังเล็กน้อย เหมือนพระพักตร์พระพุทธรูปอินเดียครั้งราชวงศ์คุปตะทีเดียว
ยุคหลัง พระพักตร์แบนและกว้างกว่ายุคแรก สันนิษฐานว่ายุคแรกจะเป็นฝีมือช่างชั้นครูบาอาจารย์ ซึ่งแม่นยำในลักษณะของพระพุทธรูปอินเดียทำเอง ต่อมาชาวพื้นเมืองทำไม่ได้ดีเท่านั้น หรือไม่นิยมแบบนั้น พระพักตร์จึงกลายไปเป็นอย่างที่ ๒ ซึ่งได้พบเป็นจำนวนมากกว่าอย่างที่ ๑ แต่ส่วนอื่นๆไม่มีเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก เห็นเข้าก็มีเค้าให้รู้ได้เสมอว่า เป็นสมัยเดียวกัน
พระพุทธรูปสมัยนี้ที่ได้พบแล้ว มี ๘ ปางด้วยกัน คือ
๑.ปางปฐมเทศนา ปางนี้ทำทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กด้วยศิลาและโลหะ มีทั้งอย่างนั่งห้อยพระบาท และนั่งขัดสมาธิ
๒.ปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ ทำทั้งด้วยศิลาและโลหะ ควรสังเกตไว้อย่างหนึ่งว่า การขัดสมาธิของพระสมัยนี้ผิดกับสมัยอื่นๆ คือขัดหลวมๆ บางทีพอฝ่าเท้าซ้อนกันเท่านั้น และบางรูปแปลกมากๆ คือขัดปลายเท้าเสียบลง จนเห็นก้นเผยอขึ้น
๓. ปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร ปางนี้มีน้อยพบแต่ทำด้วยโลหะ
๔. ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ ทำทั้งด้วยศิลาและโลหะ
๕. ปางมหาปาฏิหาริย์ พบแต่ทำด้วยศิลา
๖. ปางประทานอภัย ทำทั้งด้วยศิลาและโลหะ
๗. ปางประทานพร พบแต่ทำด้วยศิลา
๘. ปางโปรดสัตว์ ( คือพระหัตถ์ขวาจีบนิ้วพระหัตถ์ท่าแสดงธรรม พระหัตถ์ซ้ายหงายฝ่าพระหัตถ์ไปข้างหน้า ในท่าประทานพร ) พบแต่ทำด้วยโลหะ
สมัยศรีวิชัย
( ระหว่าง พ.ศ. ๑๒๐๐ - ๑๗๐๐ )
พระพุทธรูปสมัยนี้ เป็นแบบอย่างฝีมือช่างของอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งราชธานีอยู่ในเกาะสุมาตราข้างทิศประจิมของเมืองปาเล็มบังในบัดนี้ แผ่อาณาเขตไปจนเกาะชวาและมาในแหลมมลายูของไทย มีเมืองนครศรีธรรมราชและไชยาเป็นต้น ศิลปวิทยาของช่างกรุงศรีวิชัย จึงได้แพร่หลายมาถึงปักษ์ใต้ของประเทศสยาม ศิลปของกรุงศรีวิชัยนี้เดิมทีเดียวก็ได้รับมาจากชาวอินเดียเหมือนกันกับพวกกรุงทวารวดี แต่จะรับมาเมื่อไรได้แต่สันนิษฐาน เห็นจะเป็นคราวเดียวกับที่พวกอินเดียฝ่ายใต้ไปตั้งเมืองจัมปานคร ซึ่งเรามักเรียกกันว่าเมืองจาม อยู่ริมทะเลในแดนญวนข้างใต้เมืองเว้บัดนี้ เพราะของโบราณยุคนี้เป็นต้นว่า รูปจำหลักหรือลวดลาย หรือแบบอย่างการทำเจดีย์วัตถุทั้งที่ในชวา ในเมืองไทย และที่เมืองจาม แบบอย่างละม้ายคล้ายกันมาก คงจะเป็นสกุลช่างอันเดียวกันเป็นแน่
ลักษณะพระพุทธรูปสมัยศรีวิชัย
เกตุมาลาเป็นต่อมสั้นคล้ายสมัยทวารวดี แต่ขมวดพระเกศเล็กละเอียดกว่าสมัยทวารวดี โดยมากมีไรพระศก แต่ถ้าไม่มีไรพระศกมักมีอุณาโลมในระหว่างพระโขนง และมีใบโพธิ์ติดที่พระเกตุมาลา พระนลาตเรียบ พระโขนงโก่ง พระพักตร์แบนเหมือนสมัยทวารวดี แต่พระหนุไม่ป้านเหมือนสมัยทวารวดี พระโอษฐ์ไม่แบะ สังฆาฏิยาวลงมาใต้พระถัน บัวรองฐานกลีบใหญ่ มีส่วนกว้างมากกว่าของสมัยทวารวดี กับมีกลีบเล็กแซมตั้งแต่ ๑ ถึง ๓ กลีบ เกสรละเอียด พระหัตถ์และพระบาทมักทำได้ส่วนกับพระองค์ ไม่ใหญ่เหมือนของสมัยทวารวดี ถ้าเป็นพระนั่งโดยมากมีเรือนแก้วด้วย แต่ต่างกับของสมัยทวารวดีซึ่งมักทำเป็นเก้าอี้ สมัยนี้มักทำเป็นรูปใบโพธิ์และมียอดเป็นฉัตร ถ้าเป็นพระยืนบางทีไม่มีชายจีวรเลย ที่มี ๒ ข้างและข้างเดียวเหมือนสมัยทวารวดีก็มี
พระพุทธรูปสมัยนี้มีน้อย มีพระโพธิสัตว์เป็นจำนวนมาก เพราะเป็นคติมหายานซึ่งนับถือพระโพธิสัตว์เป็นสำคัญ มักได้พบทางปักษ์ใต้ มีจังหวัดสุราษฎร์ นครศรีธรรมราช และสงขลา เป็นต้น ทางเหนือเคยได้พบบ้างในจังหวัดมหาสารคาม แต่เป็นของขนาดเล็กซึ่งบางทีอาจเป็นเพราะมีผู้พาเอาไปไว้ภายหลังก็เป็นได้ เท่าที่ได้พบมาแล้วมี ๖ ปางคือ
๑. ปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร ทำด้วยโลหะ
๒. ปางลีลา ทำด้วยโลหะ
๓. ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ ทำด้วยโลหะ
๔. ปางโปรดสัตว์ ทำด้วยโลหะ
๕. ปางประทานอภัย ทำด้วยโลหะ
๖. ปางนาคปรก ทำด้วยโลหะ
ที่เป็นปางสมาธิ ปางมหาปาฏิหาริย์ และปางเทศนา มีพบแต่ที่ทำเป็นพระพิมพ์
สมัยลพบุรี
( ระหว่าง พ.ศ. ๑๕๐๐ - ๑๘๐๐ )
พระพุทธรูปสมัยนี้เป็นแบบอย่างฝีมือช่างขอมมีทั้งทำตามคติหินยาน ซึ่งมีอยู่เป็นดั้งเดิมแต่ครั้งสมัยทวารวดี และคติมหายานซึ่งได้รับมาแต่สมัยศรีวิชัย และพวกขอมนำเข้ามาแต่ประเทศกัมพูชาอีก ที่เรียกพระพุทธรูปแบบนี้ว่า สมัยลพบุรีนั้น ก็เพราะเมื่อขอมมีอำนาจปกครองประเทศสยามอยู่นั้น ตั้งราชธานีของอุปราชอยู่ที่เมืองลพบุรี นักปราชญ์ทางโบราณคดีจึงได้เอานามราชธานีครั้งนั้นมาเป็นชื่อสกุลช่างขอมในประเทศสยามมาให้จำง่าย มิได้หมายความว่าเป็นของทำเฉพาะแต่ที่ในจังหวัดลพบุรีเท่านั้น
ลักษณะพระพุทธรูปสมัยลพบุรี
พระพุทธรูปสมัยนี้มีพบในตอนกลางของประเทศสยามมากที่สุด แต่ทั้งทางเหนือและทางใต้ก็ได้พบประปรายทั่วไป ลักษณะพระพุทธรูปสมัยนี้ ยังคงทำเกตุมาลาเป็นต่อมเหมือนกับสมัยทวารวดี แต่เปลี่ยนรูปร่างไปหลายอย่าง คือ เป็นอย่างก้นหอยบ้าง อย่างฝาชีครอบบ้าง อย่างมงกุฏเทวรูปบ้าง อย่างเป็นดอกบัวแลเห็นกลีบรอบๆบ้าง มีไรพระศกเส้นใหญ่กว่าของสมัยศรีวิชัย เส้นพระศกทำเป็นอย่างเส้นผมคนบ้าง เป็นขมวดละเอียดบ้าง หยาบบ้าง ศิราภรณ์ทำอย่างทรงเทริดบ้าง กระบังหน้าบ้าง พระพักตร์กว้าง พระโอษฐ์แบะ พระหนุป้าน พระยืนทำเป็นอย่างห่มคลุมทั้งนั้น พระนั่งทำทั้งอย่างห่มคลุมและห่มดอง สังฆาฏิยาวลงไปจนจรดพระนาภี ชายอันตรวาสก(สะบง)ข้างบนเผยอเป็นสัน โดยมากพระกรรณยาวย้อยจนจรดพระอังสะ ที่เป็นขนาดใหญ่ทำเส้นพระศกเป็นอย่างบัวหลังเบี้ยก็มี เป็นอย่างเส้นผมคนและเป็นหนามขนุนก็มี ที่ทรงเครื่องมีฉลองศอกำไลแขน และประคตเป็นลวดลายแบบขอมผิดกับสมัยอื่นๆ บัวรองฐานทำทั้งอย่างบัวหงายบัวคว่ำก็มี บัวหงายอย่างเดียวก็มี และบัวคว่ำอย่างเดียวก็มี แต่บัวขอมสังเกตได้ง่ายกว่าบัวสมัยอื่น ๆ คือ เป็นอย่างชนิดบัวหลังเบี้ยหรือปลายกลีบมีขอบทั้งนั้น
ลักษณะพระพุทธรูปสมัยลพบุรีที่ทำในประเทศสยาม และพระพุทธรูปขอมแท้ที่ทำในประเทศกัมพูชา ศาสตราจารย์ยอช เซเดส์ ได้เป็นผู้สังเกตว่าต่างกันเล็กน้อย คือพระพุทธรูปนั่งของกรุงกัมพูชา มีส่วนสูงวัดตั้งแต่ทับเกษตร์ถึงพระเกศ เท่ากับส่วนกว้างวัดตรงหน้าตัก แต่พระพุทธรูปนั่งสมัยลพบุรีโดยมากมีส่วนสูงมากกว่าส่วนกว้าง พระพักตร์พระพุทธรูปสมัยลพบุรีก็ผิดกับพระพักตร์พระพุทธรูปของกัมพูชาอีกเล็กน้อย คือ พระโขนงนูนเป็นสันออกมามาก พระนาสิกโก่งและยาว พระหนุเป็นปมป้าน ไรพระศกหนาและโต เกตุมาลาใหญ่เป็นรูปฝาชีมีลวดลายคล้ายมงกุฏเทวรูป และอธิบายต่อไปว่า เหตุที่พระพุทธรูปสมัยลพบุรีที่ในประเทศสยามต่างกับพระพุทธรูปขอมในกรุงกัมพูชานั้น จะเป็นด้วยพระพุทธรูปสมัยลพบุรีเป็นฝีมือช่างขอมในหัวเมืองฝ่ายตะวันตก ไม่ชำนาญในการทำพระพุทธรูปหรือมีตำราทำพระพุทธรูปผิดกับช่างในกรุงกัมพูชา หรืออีกนัยหนึ่งว่าอาจเป็นฝีมือช่างชาวพื้นเมืองทำตามแบบขอม เปลี่ยนแปลงตามความนิยมของตน พระพุทธรูปสมัยลพบุรีในประเทศสยามกับพระพุทธรูปของในกรุงกัมพูชาจึงต่างกันไปบ้างเล็กน้อย แต่ความจริงพระพุทธรูปสมัยลพบุรีและพระพุทธรูปฝีมือช่างขอมในกรุงกัมพูชานั้นเป็นของสังเกตได้ยากที่สุดว่าแตกต่างกันอย่างไร ถ้าเอาพระพุทธรูปฝีมือขอมมาองค์หนึ่ง โดยไม่ให้รู้ว่าได้พบที่ไหนแล้ว ให้ทายว่าเป็นของทำในประเทศสยามหรือในประเทศกัมพูชาแล้ว ก็ยากที่จะทายได้ถูกต้อง
พระพุทธรูปสมัยนี้เท่าที่ได้พบแล้ว ทำปางต่างๆ ๗ ปาง คือ
๑. ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ ทำด้วยโลหะ
๒. ปางประทานอภัย มีทั้งยกพระหัตถ์ข้างเดียว และสองข้าง ทำทั้งด้วยศิลาและโลหะ
๓. ปางประทานพร พบแต่ทำด้วยศิลา
๔. ปางโปรดสัตว์ พบแต่ทำด้วยโลหะ
๕. ปางนาคปรก มีทั้งอย่างเดี่ยวและอย่างรัตนตรัยมหายาน(คือชนิดมีพระพุทธนาคปรก(อาทิพุทธเจ้า)อยู่กลาง พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร อยู่ข้างขวา นางปัญญาปารมีตา อยู่ข้างซ้าย ) ทำทั้งด้วยศิลาและโลหะ
๖. ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ ทำทั้งด้วยศิลาและโลหะ
๗. ปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ ทำทั้งด้วยศิลาและโลหะ สมัยนี้ไม่มีขัดสมาธิเพชร
นอกจากปางต่างๆที่กล่าวนี้ ยังมีอีกชนิดหนึ่ง คือ ทำพระพุทธรูปตั้งแต่ ๓ องค์ถึง ๔ องค์ในฐานอันเดียวกัน ซึ่งอย่าง ๓ องค์คงจะหมายความถึงพระพุทธเจ้ามีกาย ๓ อย่าง คือ สัมโภคกาย ธรรมกาย และนิรมานกาย ตามคติมหายาน อย่าง ๔ องค์ติดกันคงจะหมายถึงพระพุทธเจ้า ๔ องค์ในภัททกัลป์น ที่ได้ตรัสรู้ไปแล้ว แต่ทำพระหัตถ์อย่างปางมารวิชัยทั้งนั้น จึงไม่นับเป็นปางหนึ่งต่างหาก
ประวัติศาสตร์และโบราณคดีในอำเภอเวียงเชียงรุ้ง
คลิกเพื่อดูแผนที่ http://file.siam2web.com/amuletsale4u/webpage/2009530_4564.gif
จังหวัดเชียงรายเป็นชุมชนที่มีตั้งแต่โบราณกาลหลายยุคหลายสมัย ถ้าเรานับย้อนหลังไปเมื่อหลายล้านปีก่อน มีผู้สันนิษฐานว่า พื้นที่ในจังหวัดเชียงรายบางส่วนอาจเป็นทะเลก็ได้ เนื่องจากมีหลักฐานหลายประการบ่งบอกถึงความเก่าแก่ของพื้นที่ อาทิ มีการขุดค้นพบซากสัตว์ทะเลหลายประเภท เช่น หอยชนิดต่างๆที่มีในทะเลและอ่าวไทยในปัจจุบัน ตลอดจนกระดูก และฟันสัตว์ใหญ่ ซากต้นไม้ชนิดต่างๆ สิ่งเหล่านี้ปัจจุบันได้มีการรวบรวมไว้ในแหล่งให้ความรู้ด้านโบราณคดีของจังหวัด
ต่อมาในสมัยยุคหินและยุคสัมฤทธิ์ก็ได้มีการค้นพบโบราณวัตถุและโบราณสถานต่างๆ มากมายเป็นเครื่องยืนยันว่า พื้นที่ในจังหวัดเชียงรายนั้นเป็นพื้นที่ที่ควรศึกษาด้านโบราณคดีเป็นอย่างยิ่งในสมัยยุคพุทธกาลไทยเราได้มีอักษรใช้ ชนเผ่าไทยก็ได้ขยายบ้านเมืองสร้างบ้านแปลงเมืองขึ้นในถิ่นต่างๆ ตามที่แต่ละเผ่าได้เลือกสถานที่และชัยภูมิในการตั้งถิ่นฐาน ดังนั้นในพื้นที่จังหวัดเชียงรายจึงมีแต่ซากโบราณสถาน โบราณวัตถุ ตลอดจนสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มากมาย ซึ่งทางราชการได้ดำเนินการสำรวจในพื้นที่จังหวัดเชียงราย พบว่ามีโบราณสถาน(เมืองร้าง)เกือบหนึ่งร้อยเมืองและพบในทุกอำเภอ ลักษณะการสร้างเมืองจะมีลักษณะมีการขุดคูดินล้อมรอบเมืองและก่อกำแพงด้วยอิฐ และเพิ่งมีการเลิกสร้างเมืองเมื่อสมัยตอนปลายกรุงธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องด้วยมีการรวบรวมชนเผ่าไทยเข้าด้วยกัน
สมัยโบราณนั้น แต่ละเผ่ามีการปกครองตนเอง และการปกครองบ้านเมืองในสมัยโบราณเมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อนนั้น มักจะมีการปกครองแบบ
1. แยกการปกครองชนเผ่าใคร เผ่ามัน
2. แต่ละเผ่ามีการปกครองแบบนครรัฐ แต่ละรัฐยังแบ่งเป็นเมืองเล็กๆ หรือที่เรียกในสมัยหนึ่งพันปีเศษมานี้ว่า "ปั๊นนา"
" ปั๊นนา" หนึ่ง ๆ ก็จะส่งบุตรหลานหรือผู้ที่ไว้วางใจไปเป็นเจ้าหัวเมืองในสมัยพญาเม็งรายครองเมืองเชียงรายได้แบ่งการปกครองออกเป็น 32 ปั๊นนา (พันนา) รวมเป็น 33 ปั๊นนาทั้งเมืองหลวง คือ เมืองเชียงราย อาทิ
1. ปั๊นนาเชียงรายน้อย
2. ปั๊นนาท่าก่ง
3. ปั๊นนาย่วนน้ำหัวตีนเวียง
4. ปั๊นนาปูเลา
5. ปั๊นนาเอียน
6. ปั๊นนาเชียงราก
7. ปั๊นนาโทรักษ์
8. ปั๊นนาแช่เลียง
9. ปั๊นนาแซ่ตาด
10. ปั๊นนาแคว้นอ้อย
11. ปั๊นนาฝายแก้ว
12. ปั๊นนาเชียงเคี่ยน
13. ปั๊นนาคุ้มเผือย
14. ปั๊นนาแชหาน
15. ปั๊นนาแชลุง
16 ปั๊นนาชะง่า
17. ปั๊นนาช่างฆ้อง
18. ปั๊นนาเชียงลม
19. ปั๊นนาตีนเกี่ยงคำ
20. ปั๊นนาหอหน้าไม้
21. ปั๊นนาล้อ
22. ปั๊นนาสะแหล่ง
23. ปั๊นนาแคว้นดง
24. ปั๊นนาดอกคำ
25. ปั๊นนานาย
26. ปั๊นนาแคว้นหงษ์
27. ปั๊นนามหาดูปลา
28. ปั๊นนาเป้า
29. ปั๊นนาแคว้นน้ำหัว
30. ปั๊นนาจันและ
31. ปั๊นนาเชียงรุ้งน้อย
32. ปั๊นนาลอน้อย
33. เชียงรายเมืองหลวง
ปั๊นนาเชียงรุ้งน้อย หรือ เวียงเชียงรุ้ง ปัจจุบัน มีความสำคัญอย่างไร
ในสมัยพญาเม็งรายนั้น พลเมืองของพระองค์แบ่งออกเป็นเผ่า ๆ ดังนี้
1. ไทยเผ่าอ้ายลาวของพระบิดา เผ่าอ้ายลาวหรือคนลาว (เหนือ) ปัจจุบันเรียกคนยวนหรือคนเมือง ชนเผ่านี้มีมากและมีความสำคัญต่อการพัฒนาบ้านเมืองอย่างยิ่ง นับว่ามีจำนวนมากกว่าเผ่าอื่น ๆ
2. เผ่าบิซู หรือละวะ หรือคนอ้ายลาวเรียกตามภาษาพูดของตนว่า "ลัวะ" นั่นเอง คนเผ่านี้มีมากพอๆ กับชนอ้ายลาวและชนเผ่านี้มีบทบาทในการสร้างชุมชนรวมชุมชนอย่างมาก ปรากฏว่ามังรายใช้อ้ายผ้าชนเผ่าบิซูเป็นไส้ศึกช่วยบริหารบ้านเมืองกับพญายีบา นานหลายปี จนในที่สุดทำอุบายให้พลเมืองเกลียดพญายีบาเจ้าเมืองลำพูนจนกองทัพมังราย เข้ายึดเมืองลำพูนได้ในปี พ.ศ. 1824
3. ไทเผ่าลื้อ ไทเผ่านี้เป็นเผ่าที่เป็นมารดาของพญาเม็งราย กล่าวคือ พญาเม็งรายนั้นเป็นหลานของเจ้าเมืองสิบสองพันนา อันมีเมืองเชียงรุ้ง (เวียงฮุ่ง) ปัจจุบันตั้งอยู่ในประเทศจีน เจ้าผู้ครองหิรัญนคร(เจ้าลาวเม็ง บิดาของพญาเม็งราย) ได้ไปสู่ขอเอาราชธิดาเจ้าเมืองเชียงรุ้งซึ่งเป็นน้องหญิงของท้าวรุ่งแก่นชาย เจ้าผู้ครองเวียงผาครางเชียงรุ่ง องค์ที่4 ขอนาง "โอ้มิ่งไข่ฟ้า" หรือสามัญชนทั่วไปเรียก "นางอกแอ่น" มาเป็นชายาเจ้าลาวเม็ง พอทำพิธีสยุมพรอภิเษกแล้ว ทางเมืองเชียงรายให้เปลี่ยนนามใหม่ว่า พระนางเทพคำกลาย หมายถึง เทวดาแปลงตัวมาเกิด เล่าขานกันว่านางสาวไตลื้อผู้นี้ มีรูปโฉมสวยงามยิ่งนัก แต่งพระองค์แบบไตเชียงรุ่งตลอดเวลา (แต่งแบบลื้อ) อยู่มาไม่นาน เจ้าลาวเม็งและนางเทพคำกลายก็ได้ราชบุตรคือ ขุนราย (พญาเม็งราย)
ขุนรายผู้มีบุญ พอถือกำเนิดได้ไม่นานนัก ความทราบถึงเจ้าฟ้าแก่นชาย ซึ่งเป็นกษัตริย์เมืองเชียงรุ่งผู้เป็นลุง ก็พาบริวาร 300 คน มาเยี่ยมน้องสาว คือนางอกแอ่น และมาทำพิธีมังคละนารายณ์ให้หลาน โดยใส่ชื่อว่า ขุนราย พร้อมกับให้ของขวัญแต่น้องเขยคือเจ้าลาวเม็ง โดยยกเมืองพยาก และเมืองหลวงภูคาให้อีก ทำให้เขตเมืองหิรัญนครกว้างขึ้นมาอีก พญามังรายนั้นเป็นกษัตริย์ที่เข้มแข็ง เจ้าเมืองใหญ่น้อยต่างสวามิภักดี์ ถวายดอกไม้เงินทอง จึงได้นามใหม่เป็น "ขุนเม็งราย" หรือ "พญาเม็งราย"
พระองค์มังรายนั้น มีความผูกพันทางฝ่ายพระราชมารดายิ่งนัก พระองค์เสด็จไปสร้างเมืองที่ไหนๆ มักจะเชิญเสด็จแม่ไปอยู่ด้วย ภาษาที่ใช้ในราชสำนักก็ใช้สองสำเนียง จะเห็นใช้จากบันทึกต่างๆจะมีใช้ภาษาไตลาวและภาษาไตลื้อ โดยเฉาะในกฎหมายมังราย คำบางคำใช้ภาษาไตลื้อเป็นส่วนใหญ่
สำหรับพลเมืองที่ติดตามพระนางเทพคำกลายนั้น พระองค์ท่านได้สร้างเมืองให้อยู่ต่างหากเสมอเหมือนว่าเมืองๆ นี้คือเมืองเชียงรุ่งเดิมหรือเวียงผาครางเดิมนั้นเอง เมืองๆนี้ปัจจุบันเป็นเมืองร้างอยู่ในหวัดเชียงรายชื่อเมือง "เชียงรุ่งน้อย" เป็นหนึ่งใน 32 พันนาของเมืองเชียงรายยุคพญาเม็งราย นอกจากนี้ พ.ศ.1848 พระองค์ได้จัดให้คณะสงฆ์ออกไปเผยแพร่พุทธศาสนาในเมืองสิบสองพันนาเพื่อสืบสัมพันธ์ฉันท์ญาติมิตรทางพระราชมารดาดังนั้นเมืองเชียงรุ่งน้อยจึงเต็มไปด้วยชุมชนเผ่าไตลื้อตลอดศิลปวัฒนธรรมความเป็นอยู่เป็นไปตามครรลองชนเผ่านี้ทั้งหมด
เวียงเชียงรุ่งน้อย
เวียงเชียงรุ่งน้อยหรือพันนา เชียงรุ่งน้อยตั้งอยู่ในเขตหมู่ที่ 10 บ้านห้วยเคียน ตำบลบ้านเหล่า กิ่งอำเภอเวียงเชียงรุ่ง ตั้งอยู่ในพิกัด เส้นรุ่งที่ 99 องศา 58 ลิปดา 40 ฟิลิปดาตะวันออก และเส้นแวงที่ 1 องศา 57 ลิปดาเหนือ
เมืองโบราณแห่งนี้มีเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ เป็นทุ่งนา ห่างจากแม่น้ำกกประมาณ 2.50 ก.ม.
- ทิศใต้ ติดทุ่งนา และร่องน้ำลึกไหลผ่าน
- ทิศตะวันออกติดลำน้ำสายได้แก่ร่องจิกเป็นคูเมืองด้วย
- ทิศตะวันตก มีลำน้ำแม่ลาว (เดิม) ไหลผ่านและใช้เป็นคูเมืองไปในตัว ด้านนี้ห่างจาก ลำน้ำกกประมาณ 4 - 5 ก.ม. และห่างจากหมู่บ้านดงตะเคียนไปทิศตะวันออกประมาณ 2 ก.ม.
ลักษณะเมือง
เมืองเชียงรุ่งน้อยห่างจากหมู่บ้านพอสมควร ตั้งอยู่ในชัยภูมิที่เหมาะสมมาก กล่าวคือ เป็นเนินสูงจากระดับพื้นราบประมาณ 2 เมตร เป็นรูปหลังเต่ามีเนื้อที่โดยประมาณไม่ต่ำกว่า 500 ไร่ กว้างใหญ่พอ ๆ กับเมืองเวียงวัง (กาหลง) ของอำเภอเวียงป่าเป้า แต่เมืองๆ นี้ตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะกว่าโดยเฉพาะลำน้ำสามารถไหลระบายเข้า-ออกในตัวเมืองได้
เมืองเชียงรุ่งน้อยมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาก โดยเฉพาะสมัยพญามังรายได้ทะนุบำรุงเมืองนี้อย่างดีจะเห็นได้จากขุดคูเมืองถึง 3 ชั้น มีกำแพงโดยรอบ ในปี พ.ศ. 2523 ได้มีการสำรวจถึง 2-3 ครั้ง และมีหลายคณะที่เข้าไปตรวจสอบ การสำรวจในสมัยนั้นปรากฏว่าซากกำแพงและป้อมปราการยังเห็นได้ชัด เมืองนี้มีคูรอบเป็นวงแหวนกว้าง 14 ม. ลึกประมาณ 3-4 เมตร ยาวรอบเมืองประมาณ 3 กิโลเมตร คูชั้นกลางห่างจากคูชั้นในบางแห่งถึง 50 เมตร เป็นคูเมืองที่กว้างและลึกมาก คูเมืองชั้น3อยู่รอบนอก ห่างจากร่องลึกประมาณ 60 เมตร คูกว้างประมาณ 12 เมตร คูเมืองเป็นรูปคล้ายกระสอบ
เมืองนี้ชื่ออะไร
ตามหลักฐานทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ สมัยพญาเม็งราย ชึ่งปฎิสังขรณ์เมืองไชยนารายณ์เมืองมูล ซึ่งเป็นเมืองร้างอยู่ก่อนแล้ว พระองค์ได้มีการบริหารบ้านเมืองให้มีระบบระเบียบให้มากขึ้นกล่าวคือ พระองค์ได้แบ่งการบริหารบ้านเมืองโดยแบ่งการปกครองเป็นปั๊นนาหรือพันนา แต่ละพันนาให้มีเจ้าเมืองปกครองเป็นเมือง ๆ ไป รวมหัวเมืองหรือพันนาถึง 32 พันนา เมืองพันนาเหล่านี้ขึ้นตรงต่อเมืองหลวงคือ เมืองเชียงรายหมด โดยเฉพาะพันนาเชียงรุ่งน้อย พระองค์สร้างให้พระญาติทางมารดา และบริวารทั้งหลายให้อยู่อย่างมีความสุข เพราะพลเมืองในสมัยของพระองค์นั้นมีชุมชนหลายเผ่าอาทิ
1. เผ่าไท อ้ายลาวหรือลาว ปัจจุบันเราเรียกไตยวนหรือคนเมือง เผ่านี้เป็นพระญาติทางพระราชบิดา คือ พระเจ้าลาวเม็ง
2. เผ่าบิซู หรือละ หรือละวะ ปัจจุบันคนเมืองเรียกเพี้ยนตานภาษาพูดของตนว่าชาวลัวะซึ่งผิดจากความเป็นจริงอย่างมาก ชนเผ่านี้มีมากพอๆกับเผ่าลาวหรืออ้ายลาว เป็นเผ่าที่ฉลาด ตัวอย่าง อ้ายฟ้าทหารเอกของเจ้าพญามังรายไปทำกลอุบายให้คนลำพูนของพญาบาแตกแยกเมื่อ พ.ศ. 1824 ทำให้เมืองลำพูนต้องขึ้นกับพญามังรายในกาลต่อมา
3. พวกเผ่าชาวข่าต่าง ๆ เช่น ข่าก๊อ ข่าหมุ ข่าเมด ผีตองเหลือง แอ่งคะแคว ฯลฯ พวกนี้เป็นผู้รับใช้เฝ้ารักษาวัตถุที่ดินโบราณสถาน ดูแลเขตบ้านเขตเมือง
4. เผ่าไตลื้อ เป็นพระคติทางพระมารดานางโอ้มิ่งฟ้า หรือนางเทพคำกลาย ชนเผ่านี้มีมากพอสมควรที่อยู่ในเมืองเชียงรุ่งน้อย ในการที่พระองค์สร้างเมืองนี้ขึ้นก็เพื่อที่จะให้บริวารของพระมารดามีกำลังใจและต้องการที่จะสร้างกำลังทัพให้เข้มแข็ง ไว้ใจได้เพราะทหารหรือขุนศึกเป็นเผ่าเดียวกับทางพระมารดา เมือง ๆ นี้จำลองมาจากเมืองหลวงของชนเผ่าลื้อในเขต 12 พันนา ลื้อจึงเรียกว่า เมืองเชียงรุ่งน้อย ดังนั้นพญามังรายจึงสร้างเมืองให้เป็นกรณีพิเศษซึ่งจะเห็นได้จาก
- พื้นที่ซึ่ง กว้าง ยาว มีพื้นที่มาก
- ขุดคู ประตู หอรบ ครบครัน
- ข่างน้ำเข้าเลี้ยงเมืองได้ตลอดปี
- ตั้งอยู่ใกล้ลำน้ำใหญ่ 2 สาย คือ น้ำแม่ลาว และ น้ำแม่กก
- บริเวณรอบ ๆ เป็นที่ว่าง พื้นที่ราบเหมาะแก่การเกษตร ถูกใจชนเผ่าลื้อที่ขยันงาน
- ตรงใจกลางเมือง สร้างหอคำอยู่ที่สูงเด่นชัด อากาศดี
การคมนาคมสมัยนั้นมาได้ 2 ทาง กล่าวคือ ทางบกและทางน้ำแม่กกต่อน้ำแม่ลาวที่จะไปหายังเมืองหลวง (เชียงราย) เมืองนี้มีความเจริญรุ่งเรืองมาก เป็นเมืองหน้าด่านทางทิศตะวันออกของเมืองเชียงราย มีขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของตน (เผ่าลื้อ) ต่อมาถึงขั้นลูกหลานพญามังราย ในสมัยพระเจ้าติโลกราช ศตวรรษที่ 19 เมืองนี้จึงได้รับการเอาใจใส่อีกครั้งหนึ่ง อันเนื่องมาจากพระองค์ได้รวมพลังหัวเมืองต่าง ๆ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือพูดง่าย ๆ ว่า "รวมล้านนา" เข้าไว้ในพระราชอำนาจของพระองค์ เนื่องจากพระเจ้าติโลกราชเป็นกษัตริย์ที่เข้มแข็ง สามารถรวมล้านนาฝ่ายใต้ อันมีเมืองเชียงไม่เป็นศูนย์กลางใหญ่ และรวบรวมล้านนาฝ่ายเหนืออันมีเมืองเชียงรุ่งสิบสองพันนาเป็นเมืองหลวง รวมอาณาจักรเข้าด้วยกันทั้งนี้เพราะพระองค์มีทหารเอกอันเป็นพระญาติผู้ใหญ่ ได้แก่ เจ้าหมื่นด้งนคร ทหารหาญท่านนี้เป็นผู้เข้มแข็ง ทำให้การปกครองของพระเจ้าติโลกราชมีประสิทธิภาพอย่างมาก เจ้าหมื่นด้งได้นำทัพไปปราบล้านนาฝ่ายเหนือถึงแดนสิบสองพันนาลื้อ แล้วกวาดต้อนผู้คนมาไว้ ณ เมืองเชียงรุ่งน้อยอีกเมืองหนึ่ง ให้ชื่อว่า เวียงด้ง ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านเวียงแก้ว
ทำไมพันนาต่างๆ จึงล่มสลายลง หัวเมืองต่างๆในเขตล้านนาได้ล่มสลายหาผู้จัดดูแลรักษาไม่ได้ในสมัยศตวรรษที่ 21 กล่าวคือ พ.ศ.2101-2310 หัวเมืองต่าง ๆ ในล้านนาฝ่ายใต้ ฝ่ายเหนือ ถูกกองทัพพม่าตีแตก บ้านเมืองระส่ำระสาย ไม่เพียงแต่ล้านนา แม้อยุธยาก็แตก พลเมืองถูกกวาดต้อนไปอยู่ในที่ต่างๆจนหมด สมัยนี้เป็นสมัยพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงค์เป็นกษัตริย์ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ องค์สุดท้ายและหมดราชวงค์มังราย เมืองเชียงรุ่งน้อยก็พลอยล่มสลายไปด้วย
เมืองโบราณเวียงเชียงรุ้ง
เมืองโบราณแห่งนี้เชื่อว่า มีความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ชาติไทย อาณาจักรล้านนาไทยเชื่อมโยงถึงอาณาจักรสุวรรณโคมคำ ถึงอาณาจักรโยนกเชียงแสน เมืองไชยนารายณ์ ไชยปราการ และอื่น ๆ แม้แต่วรรณคดีเรื่อง จำปาสี่ต้น และมีหลักฐานหลายอย่างบ่งว่า "เวียงฮุ้ง" แห่งนี้มี "ฮุ้ง" กินคน นางปทุมมาหรือนางกองคำ เคยเป็นธิดากษัตริย์เมืองนี้จะได้ศึกษาได้จากวรรณคดี เรื่อง "จำปาสี่ต้น" และเรื่องสี่ยอดกุมาร ซึ่งเป็นละครวิทยุแพร่หลายเป็นที่นิยมทั่วประเทศระยะหนึ่ง ที่ตั้ง อุทยานวัดเวียงเชียงรุ้งตั้งอยู่ในเขตท้องที่บ้านห้วยเคียนหมู่ที่ 10 ต.ทุ่งก่อ กิ่งอำเภอเวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย ตั้งอยู่พิกัดที่ 062032 เส้นรุ้งที่ 99 องศา 58 ลิบดา 40 ฟิลิบดาตะวันออกและเส้นแวงที่ 19 องศา 57 ลิบดาเหนือ (อยู่แผนที่ทางอากาศลำดับชุด L 708 แผ่นที่ 5071)
ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิประเทศบริเวณเมืองโบราณเวียงเชียงรุ้ง หรือเวียงฮุ่งมีลักษณะเป็นเนินสูงตั้งอยู่กลางทุ่งนาในขณะนี้รูปลักษณะเกือบจะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าถ้ามองดูจากภาพถ่ายทางอากาศจะคล้ายฟักเขียวมีเนื้อที่ประมาณ 500-600 ไร่ ตรงกลางเหมือนหลังเต่า เมื่อได้ขึ้นไปยืนอยู่บนที่สูงของเมืองนี้ก็จะสามารถมองเห็นได้รอบทิศ มีลักษณะสิ่งที่บอกให้ทราบว่าเป็นเมืองโบราณปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น ป้อม คู ประตู หอรบ โดยเฉพาะคูเมืองมีถึง3ชั้น ชั้นในกำแพงเมือง (กำแพงดิน) มีครอบเป็นวงแหวนกว้าง 14 ม. ลึก 3 ม. ยาวรอบเมืองประมาณ 2 กิโลเมตร คูชั้นกลางอยู่ห่างออกมาจากชั้นในประมาณ 50 ม. เป็นคูเมืองที่ใหญ่กว้างและลึกคือกว้าง 30 เมตร ลึก 5-6 เมตร ยาวรอบตัวเมืองประมาณ 5 กิโลเมตร ชาวบ้านเรียกว่าฮ่องลึกหรือร่องลึกประมาณ 60 ม. คูกว้าง 12 เมตร ลึก 2 เมตร ยาวประมาณ 2 กิโลเมตร เรียกว่าฮ่องจิกหรือร่องจิก และที่บนเนินของตัวเมืองก็ยังมีดเมืองอยู่อีกชั้นหนึ่งกว้าง 8 เมตร ลึก 2 เมตร ลึก 1-2 เมตร ยาวประมาณ 900 เมตรโค้งเป็นรูปครึ่งวงกลมที่บนบริเวณตัวเมืองมีก้อนอิฐก้อนขนาดใหญ่กองอยู่ในลักษณะเป็นฐานโบสถ์และฐานเจดีย์ปรากฏให้เห็นชัดอยู่ 3แห่งในแต่ละแห่งมีพระพุทธรูปหินทรายตั้งอยู่มีใบเสมาหินขนาดใหญ่ นอกจากนั้นยังพบเครื่องมือเครื่องใช้เช่น โอ่ง ไห ด้วย โถ โอชาม ซึ่งเป็นเครื่องบนดินเผาและเครื่องมือหินเป็นต้น อยู่ เกลื่อนทั่วไปในตัวเมืองเป็นจำนวนมาก ส่วนลักษณะของป้อมและหอรบจะมีอยู่ตามแนวกำแพงดินเป็นระยะใหญ่ เล็กสลับกันไปตรงไหนเป็นประตูเมืองจะมีป้อมใหญ่อยู่สองข้างและบางแห่งจะมีป้อมอีกอันหนึ่งอยูในแนวตรงกลางประตูแต่ถอย ถัดเข้าไปข้างในเมืองเป็น 3 จุด เหมือนก้อนเส้าในด้านทางทิศตะวันตกได้ใช้แม่น้ำลาวห่างเป็นคูเมืองส่วนหนึ่ง และมีประตูเมืองลงสู่แม่น้ำด้วยประตูเมืองมีอยู่ทั้ง 4 ทิศ ขึ้นไปยืนอยู่บนเนินกองอิฐขนาดใหญ่อันเป็นฐานเจดีย์ซึ่งเป็นสถานที่สูงกว่าที่อื่นในเมืองนี้แล้วมองไปโดยรอบจะเห็นพื้นที่ทุ่งนา บ้านเรือนของประชาชนไปถึง 3 ตำบล คือ ตำบลทุ่งก่อในทางทิศตะวันออกตำบลเวียงชัยในทางทิศใต้ เห็นตำบลเวียงเหนือในทางทิศตะวันตก และทิศเหนือเพราะเมืองนี้ตั้งอยู่ตรงรอยต่อเขตของ 3 ตำบลดังกล่าวแล้ว เมื่อใช้กล้องส่องทางไกลส่องดูโดยรอบจะมองเห็นกว้างไกลออกไปถึงครึ่งหนึ่งของอาณาจักรล้านนาไทย คือทางทิศตะวันออกจะเห็น ทุ่นนาและหมู่บ้านห้วยเคียน บ้านดงป่าสักซึ่งห่างประมาณ 4-5 กิโลเมตร และเห็นดอยพระบาททุ่งก่อ ชึ่งอยู่เป็นฉากหลัก ถัดออกไปหลายกิโลเมตรเด่นชัดและสวยงามมากเมื่อมองไปทางทิศใต้จะเห็นทุ่งนาและหมู่บ้านร่องบัวทองบ้านเวียงแก้ว บ้านวังทอง บ้านวังช้าง บ้านเมืองชุม ตำบลเวียงชัยซึ่งเห็นเรียงรายออกไป 5-10 ก.ม.และถ้ามองเลยไกลออกไปก็จะเห็นดอยปุยในเขตอำเภอเมืองและดอยหัวง้มในเขตอำเภอพานซึ่งไกลออกไปหลายสิบกิโลเมตรมองไปทางทิศตะวันตกจะเห็นทุ่งนากว้างไกล และหมู่บ้านต่างๆ เช่น บ้านเวียงเดิม บ้านสันสลิด บ้านราษฏร์เจริญ บ้านเวียงเหนือ ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเวียงชัย เห็นไกลออกไปถึงเขตอำเภอเมืองเชียงราย เห็นดอยสะเก็น ดอยพระบาท สนามบิน พระธาตุดอยเขาควาย พระธาตุดอยจอมสัก เห็นดอยตุ๊ปู่ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย เห็นดอยกิ่วทัพยั้งและดอยอื่น ๆ ในอำเภอแม่จัน และเห็นเทือกเขาดอยนางนอน ดอยตุงและบางวันที่มีอากาศแจ่มใสจะเห็นทางขึ้นดอยตุงในเขตอำเภอแม่สายสุดเขตแดนประเทศไทย
ทัศนียภาพที่มองเห็นไกลโดยรอบความสงบที่ห่างไกลจากถนนใหญ่และหมู่บ้านโดยรอบประมาณ 1,500 เมตร ประกอบกับเป็นเนินสูงที่ตั้งอยู่กลางทุ่งกว้างทำให้มีลมพัดผ่านตลอดเวลาอากาศจึงไม่ร้อนรู้สึกเย็นพอสบายอยู่ตลอดวันถึงเวลากลางคืนจะเย็นมากขึ้นและเงียบสงัดจึงทำให้ผู้ที่ไปพักอยู่สำนักสงฆ์แห่งนี้รู้สึกจิตใจสงบเยือกเย็นจึงเป็นสถานที่เหมาะสมที่จะบำเพ็ญบุญสร้างบารมีตามแนวทางที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ทรงตรัสชี้แนวทางให้นับเวลาย้อนหลังไปจากนี้ประมาณ 20 ปี (ถอยหลังตั้งแต่ปี 2524 เป็นต้นไป) เวียงฮุ่งหรือเวียงเชียงรุ้งเป็นดงหนาป่าไม้ทึบต้นยางสูงลิบลิ่วมองเห็นได้ที่ไกล ๆนับสิบกิโลเมตร มีสัตว์ป่านานาชนิดนกหลายชนิดตลอดจนนก แร้งตัวโตก็มีเป็นฝูงใหญ่ร้อย ๆ ตัว สถานที่แห่งนี้เป็นที่หวาดกลัวและเกรงขามของคนทั้งหลายในละแวกนั้นถ้าไม่มีกิจธุระสำคัญหรือว่าจำเป็นจริงๆจะไม่มีผู้ใดกล้าย่างกรายหรือพูดล้อเล่นกันในทางที่ไม่สมควรก็จะอันเป็นไปต่างๆนานา กลับมาถึงบ้านเป็นไข้หัวโกร๋นและตายไปมาก แม้แต่การไปหาและจับปลาในคูเมืองร่องลึกก็จะต้องมีการบนบาลศาลกล่าวให้เป็นกิจจะลักษณะเสียก่อนจึงจะทำได้ เมื่อถึงคืนวันเพ็ญ วันพระบางครั้งก็จะเห็นลำแสงประหลาดคล้ายโคมไฟ บางครั้งมีลำแสงวิ่งไปมา เหมือนผีพุ่งใต้เดินทางไปมาระหว่างเวียงเชียงรุ้งกับดอยพระบาททุ่งก่อในวันพระบางครั้งจะใด้ยินเสียงสวดมนต์ดังแว่วออกมาอย่างชัดเจนบางทีก็มีเสียงฆ้อง เสียงกลอง เหมือนมีการทำบุญ เมื่อสร้างเป็นสำนักสงฆ์แล้ว ก็มีเกิดขึ้นอยู่อีกและได้มีการบันทึกเหตุการณ์ไว้มากถึง20เรื่อง หลักฐานต่างๆที่นักประวัติศาสตร์และวรรณคดีใช้ประกอบการศึกษาตามที่ทราบกัน นอกจากตำราที่มีผู้เขียนไว้ให้อ่านแล้ว ก็มีโบราณวัตถุต่างๆ เช่น เครื่องมือ เครื่องใช้ หิน อิฐ กระดูก สัมฤทธิ์เหล็ก ทองแดง โลหะอื่นๆ ตลอดจนเครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น อันเป็นรูปธรรมทั้งนักศึกษาและผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายได้อาศัยจากรูปธรรมเหล่านี้ชึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาประกอบกับเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่คำนวณยุคคำนวณสมัยประมาณอายุว่า ยุคหิน ยุคสัมฤทธิ์ ทองแดง เหล็กและอื่นๆ ตลอดจนเครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น
เมืองโบราณแห่งนี้ ทางกรมศิลปากรได้ทำการสำรวจจัดทำแผนที่เขตโบราณสถานไว้แล้ว นอกจากซากกองอิฐที่เป็นฐานเจดีย์และพระอุโบสถ 2 แห่ง พระพุทธรูปหินทราย 3 องค์ ใบสมาหินทรายขนาดใหญ่3ใบแล้ว ยังมีเครื่องมือเครื่องใช้ของคนโบราณหลายยุคทั้งที่เป็นหินดินเผา เหล็ก และเป็นสัมฤทธิ์ โดยเฉพาะโครงกระดูกสัตว์โบราณอันเป็นสิ่งแสดงว่าเมืองนี้มีอายุยาวนาน สร้างขึ้นใหม่อีกหลายครั้ง ยังมีหลายสิ่งบ่งบอกให้ทราบว่าในยุคก่อนเมืองนี้เคยเจริญรุ่งเรืองและเสื่อมไปหลายยุคหลายสมัย มาถึงยุคนี้ก็กำลังจะทำการฟื้นฟูพัฒนาขึ้นมาอีกครั้ง จะเห็นได้ว่ามีหลายคนที่อยู่ไกลแสนไกลต่างจังหวัดต่างประเทศก็มีสิ่งดลใจให้ดั้งด้นมานมัสการเยี่ยมชมเมืองโบราณนี้นับว่าเป็นเรื่องประหลาดมาก
เนื่องจากเมืองโบราณเมืองเชียงรุ้งมีประวัติ ความเป็นมาอันยาวนาน ผ่านมาหลายยุคหลายสมัยจึงไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าถูกสร้างขึ้นสมัยใด แต่มีนักประวัติศาสตร์ล้านนาไทยหลายท่านว่าอาจจะมีการสร้างขึ้นในสมัยพ่อขุนเม็งรายมหาราชเจ้าผู้ครองนครในอดีต โดยเหตุที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นเนินสูงและตั้งอยู่กลางทุ่งกว้าง มีความสงบเงียบ จึงเป็นสถานที่เหมาะที่จะบำเพ็ญธรรม ทำสมาธิภาวนา หาความสงบสันติ จึงได้เริ่มมีพระสงฆ์เดินทางเข้าไปพำนักในบริเวณเมืองโบราณนี้และได้มีการก่อสร้างที่พักสงฆ์ขึ้น โอกาสนี้ได้มีราษฎรที่มีศรัทธาเลื่อมใสเข้าไปร่วมทำบุญและพัฒนา เช่น ปลูกสร้างสวนป่า เพื่อให้พ้นจากสภาพแห้งแล้ง และใช้จัดตั้งสำนักสงบวิปัสสนากรรมฐานสันติธรรมเวียงเชียงรุ้ง แม้ว่าจะไม่มีพระสงฆ์อยู่ประจำอีกเป็นเวลานานก็ตาม แต่เวียงเชียงรุ้งก็ยังปรากฏหลักฐานทางศาสนาอยู่เป็นอันมากหลงเหลืออยู่ ดังนั้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์โบราณสถานแห่งนี้ให้คงอยู่จึงได้มีการขอทำเรื่องยกฐานะเวียงเชียงรุ้งจากวัดร้างให้เป็นวัดที่มีพระสงค์อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งต่อมาคณะสงค์จังหวัดเชียงรายได้ออกหนังสอรับรองสภาพวัดใช้โดยมีชื่อว่า "วัดเวียงเชียงรุ้ง" เมื่อ 1 กันยายน พ.ศ.2531 และกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศยกวัดร้างเป็นวัดมีพระสงค์ไห้มีนามว่า "วัดเวียงเชียงรุ้ง"เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2535 ปัจจุบันวัดเวียงเชียงรุ้ง ได้รับการขึ้นทะเบียนสถานจากกรมกลปากรแล้วนับว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งแห่งหนึ่งและได้รับให้เป็นโครงการ "วนอุทยานประวัติศาสตร์เวียงเชียงรุ้ง" เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสเฉลิมพระชนม์พรรษาครบ 5 รอบอีกด้วย
จากการที่เชียงใหม่ถูกพม่ายึดครองในปี พ.ศ. 2347 พระเจ้ากาวิละได้อพยพผู้คนไปยังลำปาง ทำให้เชียงใหม่และเชียงรายร้างผู้คน แต่ประชาชนบางส่วนที่เคยหลบหนีเข้าไปในป่ากลับมาจากตั้งชุมชน ณ หมู่บ้านดงชัยในปัจจุบัน สมัยก่อนนั้นเรียกว่า ดงหนองเขียว ต่อจากนั้นก็มีผู้คนอพยพมาจากถิ่นอื่น เช่น เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ภาคอีสาน เข้ามาตั้งหมู่บ้านอีกมากมาย โดยในสมัยก่อนนั้นการคมนาคมไม่สะดวก โดยเฉพาะในฤดูฝนการเดินทางสัญจรไปยังตัวเมืองเชียงราย ถ้าไม่เดินไปก็ต้องไปทางเรือตามลำน้ำกก จากเดิมตำบลทุ่งก่อขึ้นอยู่กับอำเภอเมืองเชียงราย ต่อมาได้แยกมาสังกัดกิ่งอำเภอเวียงชัย โดยที่มีตำบลทุ่งก่อตำบลเดียว จากการขยายตัวของประชากรและความเจริญของบ้านเมือง ก็มีการแยกตำบลอีก คือ ตำบลป่าซางเมื่อปี พ.ศ.2522 และตำบลดงมหาวัน เมื่อปี พ.ศ.2525 และในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2538 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศจัดตั้งกิ่งอำเภอเวียงเชียงรุ้ง ซึ่งประกอบด้วย 3 ตำบล คือตำบลทุ่งก่อ ตำบลป่าซาง ตำบลดงมหาวัน และยกฐานะเป็นอำเภอในปี พ.ศ. 2550
ขอขอบคุณ www.chiangraifocus.com
สมัยเชียงแสน
(ระหว่าง พ.ศ. ๑๖๐๐ - ๒๐๘๙)
พระพุทธรูปสมัยนี้ เป็นของฝีมือช่างไทย ซึ่งได้เข้ามาตั้งภูมิลำเนาอยู่ในประเทศนี้ตั้งแต่โบราณ มีพบทั่วไปในมณฑลพายัพ แต่ที่พบในเมืองเชียงแสนเก่าเป็นชนิดฝีมือช่างดีงามกว่าที่พบในจังหวัดอื่นๆ ทางโบราณคดีจึงใช้คำนี้เป็นชื่อของพระพุทธรูปสมัยนี้ แบ่งออกเป็น ๒ รุ่น คือรุ่นแรกและรุ่นหลัง
รุ่นแรก เป็นแบบอย่างพระพุทธรูปอินเดีย ครั้งราชวงศ์ปาละซึ่งเจริญในอินเดียระหว่าง พ.ศ. ๑๒๗๓ ถึง พ.ศ.๑๗๔๐ ครั้งนั้นมหาพุทธวิทยาลัยที่เมืองนาลันทะเจริญรุ่งเรือง เป็นสำนักที่นักปราชญ์ต่างประเทศไปมาอยู่เนืองๆ ฝีมือช่างอินเดียครั้งราชวงศ์ปาละจึงได้แพร่หลายไปในนานาประเทศฝ่ายตะวันออก มีประเทศพม่าและชะวาเป็นต้น
ช่างทำพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนรุ่นแรกนี้ ก็คงจะได้แบบอย่างมาจากอินเดียด้วยเหมือนกัน แต่จะได้รับมาตรงจากอินเดีย หรือได้รับต่ิอมาจากประเทศพม่าหรือชะวา ข้อนี้ยังไม่มีหลักฐานแน่นอน แต่อย่างไรก็ดี พระพุทธรูปสมัยนี้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับพระพุทธรูปอินเดีย ครั้งราชวงศ์ปาละทุกอย่าง คือพระองค์อวบอ้วน เกตุมาลาเป็นต่อมกลม นั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์มารวิชัย พระอุระนูน ชายสังฆาฏิสั้นอยู่เหนือราวพระถัน พระพักตร์กลมสั้น พระโขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์เล็ก พระหนุเป็นปม เส้นพระศกใหญ่เป็นต่อมกลมหรือเป็นก้นหอย ไม่มีไรพระศก ฐานมีบัวรอง มีทั้งบัวหงายบัวคว่ำ มีกลีบแซมและมีเกสร
มีพระพุทธรูปอีกสกุลหนึ่ง เรียกว่าพระพุทธรูปเมืองนครศรีธรรมราช มีลักษณะเหมือนกับพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนรุ่นแรกเกือบทุกอย่าง คือพระเกตุมาลาเป็นต่อม พระอุระนูน ชายสังฆาฏิสั้น เส้นพระศกใหญ่ นั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ในท่ามารวิชัย ไม่มีไรพระศก ต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น คือ วงพระพักตร์แบนและกว้างกว่า พระโอษฐ์กว้างกว่า ปลายสังฆาฏิใหญ่และมีหลายแฉก ฐานไม่มีบัวรองหรือมีบัวก็เป็นชนิดใหม่ไม่เหมือนกับบัวเชียงแสน ข้อที่พระพุทธรูปเมืองนครศรีธรรมราชเหมือนกับพระพุทธรูปรุ่นแรกนั้น ก็เพราะได้รับแบบอย่างการสร้างพระพุทธรูปมาจากครูเดิมอันเดียวกัน คือครั้งราชวงศ์ปาละ แต่ข้อที่แตกต่างกันเล็กน้อยนั้นก็เพราะพระพุทธรูปเชียงแสนรุ่นแรก เป็นฝีมือช่างไทยเหนือทำตามอย่างพระพุทธรูปอินเดียครั้งราชวงศ์ปาละ ส่วนพระพุทธรูปเมืองนครศรีธรรมราชเป็นฝีมือช่างไทยใต้ทำเจือปนด้วยแบบขอม คือที่มีพระพักตร์และพระโอษฐ์กว้างนั้นเป็นลักษณะของพระพุทธรูปขอม ด้วยเมืองนครศรีธรรมราชอยู่ใกล้และมีทางติดต่อกับเมืองลพบุรีมากกว่าเมืองเชียงแสน พระพุทธรูปแบบนี้ที่เป็นพระนั่งมีปางเดียวเท่านั้น คือปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร
พระพุทธรูปเชียงแสนรุ่นหลัง เป็นของไทยชาวลานนาและลานช้าง ทำตามอย่างพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย มีลักษณะต่างไปจากเชียงแสนชั้นแรกมาก คือทำพระเกตุมาลาเป็นเปลว นั่งขัดสมาธิราบ ชายสังฆาฏิยาว เส้นพระศกละเอียด มีไรพระศก ที่แปลกที่สุดนั้นก็คือเกตุมาลาเป็นเปลว พระพุทธรูปตั้งแต่สมัยทวารวดีมาจนถึงสมัยเชียงแสนชั้นแรกทำพระเกตุมาลาสั้นทั้งนั้น เพิ่งจะมีเกตุมาลายาวเกิดขึ้นในสมัยสุโขทัย อันได้รับแบบอย่างมาจากพวกลังกา พระสมัยเชียงแสนชั้นหลังนี้เอาอย่างมาจากสุโขทัยอีกต่อหนึ่ง
พระพุทธรูปสมัยนี้ มีพระนั่งเป็นส่วนมาก พระยืนมีน้อยและสร้างด้วยโลหะเป็นพื้น ชั้นแรกตั้งแต่ราว พ.ศ. ๑๖๐๐ ถึง พ.ศ. ๑๘๐๐ ชั้นหลังตั้งแต่ พ.ศ. ๑๘๐๐ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๙ คือถึงปีที่พระไชยเชษฐากลับจากเชียงใหม่ไปครองกรุงศรีสัตนาคนหุตลานช้าง อันมีเมืองเวียงจันทน์เป็นราชธานี เพราะตั้งแต่นี้ศิลปการทำพระพุทธรูปในลานนาประเทศเสื่อมลง มีแต่พระพุทธรูปฝีมือช่างเลวๆเป็นพื้น อันไม่ควรนับเข้าถึงชั้นศิลป
พระพุทธรูปสมัยนี้ทั้งรุ่นแรกและรุ่นหลังที่ได้พบแล้ว ทำเป็นปางต่างๆ ๖ ปาง คือ
๑. ปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร (รุ่นแรก) และขัดสมาธิราบ (รุ่นหลัง) ทำด้วยโลหะและปูนปั้น
๒. ปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ (รุ่นหลัง) มีน้อย ทำด้วยโลหะ
๓. ปางอุ้มบาตร์ (รุ่นหลัง) ทำด้วยโลหะ
๔. ปางกดรอยพระพุทธบาท (รุ่นหลัง) ทำด้วยโลหะ
๕. ปางไสยา (รุ่นหลัง) ทำด้วยโลหะและปูนปั้น
๖. ปางนั่งห้อยพระบาท (รุ่นหลัง) ทำด้วยโลหะ
สมัยสุโขทัย
(ระหว่าง พ.ศ. ๑๘๐๐ - ๑๘๙๓)
พระพุทธรูปสมัยนี้ เป็นฝีมือช่างไทยสมัยเมื่อกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี หรือสมัยราชวงศ์พระร่วงครองกรุงสุโขทัย ในสมัยนี้ได้รับพระพุทธศาสนาอย่างลังกาวงศ์เข้ามาประพฤติปฏิบัติในประเทศนี้ เพราะเวลานั้นพระพุทธศาสนาในลังกาทวีปกำลังเจริญรุ่งเรือง พระสงฆ์ลังกาในครั้งนั้นทรงพระธรรมวินัยรอบรู้พุทธวจนะวิเศษกว่าพระสงฆ์ประเทศอื่นๆ เป็นเหตุให้พระสงฆ์ไทย มอญ พม่า และเขมร พากันไปศึกษาพระศาสนาในลังกาทวีปเป็นอันมาก เมื่อพระสงฆ์ไทยกลับมายังได้ชักชวนพระสงฆ์ชาวลังกามาอยู่ในประเทศนี้ด้วย ชั้นแรกมาอยู่ทางเมืองนครศรีธรรมราช แล้วภายหลังขึ้นไปตั้งสำนักอยู่ในกรุงสุโขทัย และต่อไปจนถึงเชียงใหม่ ชาวประเทศนี้จึงได้รับแบบอย่างเจดีย์ลังกามาสร้างกันแพร่หลายตั้งแต่สมัยนั้น รวมทั้งแบบอย่างพระพุทธรูปด้วย ข้อนี้มีหลักฐาน ด้วยพระพุทธรูปโบราณในประเทศนี้ ตั้งแต่ก่อนลังกาวงศ์เข้ามา ไม่มีทำเกตุมาลายาวเป็นเปลวเลย เพิ่งมีขึ้นในสมัยนี้เป็นครั้งแรก พระพุทธรูปที่มีเกตุมาลาเป็นเปลวนั้น เป็นแบบอย่างช่างลังกาเป็นผู้คิดขึ้นก่อน แปลกกว่าแบบอย่างพระพุทธรูปในประเทศอื่น
พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ทำเป็น ๓ ยุค
ยุคแรก มักทำวงพระพักตร์กลมตามแบบพระพุทธรูปลังกา เช่นพระอัฏฐารสในวิหารวัดสระเกศบัดนี้ ซึ่งนำมาจากวัดวิหารทอง จังหวัดพิษณุโลก เป็นต้น
ยุคกลาง เมื่อฝีมือช่างเชี่ยวชาญขึ้น คิดแบบขึ้นใหม่ทำวงพระพักตร์ยาว พระหนุเสี้ยม เช่น พระร่วงที่พระปฐมเจดีย์และพระสุรภีพุทธพิมพ์ในพระอุโบสถวัดปรินายก พระพุทธรูปตามแบบยุคที่ ๒ นี้มีมากกว่ายุคแรก
ยุคที่ ๓ หรือยุคหลังเห็นจะเป็นในรัชกาลพระมหาธรรมราชาลิไทย ซึ่งในตำนานกล่าวว่าเอาเป็นพระธุระบำรุงกิจในพระพุทธศาสนายิ่งกว่ารัชกาลก่อนๆให้เสาะหาช่างที่ฝีมือดี ทั้งในฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้มาประชุมปรึกษากัน ทรงสอบสวนหาหลักฐานพุทธลักษณะในคัมภีร์พระไตรปิฎกประกอบ คิดสร้างพระพุทธรูปเพื่อจะให้วิเศษที่สุดที่จะทำได้ จึงเกิดพระพุทธรูปแบบสุโขทัยขึ้นอีกอย่างหนึ่ง เช่น พระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์ ทำวงพระพักตร์รูปไข่ หรือทำนองผลมะตูมคล้ายแบบอินเดียเดิมแต่งามยิ่งนัก และแก้ไขพุทธลักษณะที่แห่งอื่นไปตามตำรา เช่นทำปลายนิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอกันทั้ง ๔ นิ้วเป็นต้น พระพุทธรูปแบบนี้ทำกันแพร่หลายขึ้นไปจนข้างเหนือและลงมาข้างใต้ แต่ที่ทำได้งามเหมือนพระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์ซึ่งเป็นต้นตำรานั้นมีน้อย
ลักษณะพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย
พระพุทธรูปสมัยนี้ทำเกตุมาลายาว เส้นพระศกขมวดก้นหอย โดยมากไม่มีไรพระศก พระโขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระหนุเสี้ยม หัวพระถันโปน สังฆาฏิยาว มักมีปลายเป็น ๒ แฉกย่น ขัดสมาธิราบ ฐานเป็นฐานหน้ากระดานเกลี้ยงเป็นพื้น ตอนกลางแอ่นเข้าไปข้างใน ผิดกับฐานเชียงแสนซึ่งโค้งออกมาข้างนอก ไม่ใคร่ทำบัว ถ้ามีบัวก็เป็นบัวหงายบัวคว่ำชนิดบัวฐานพระพุทธชินราช ทำเป็นปางต่างๆตามพระอิริยาบถ คือ
๑. ปางไสยา ทำทั้งด้วยโลหะและปูนปั้น
๒. ปางลีลา ทำด้วยศิลา โลหะและปูนปั้น
๓. ปางประทานอภัย มีทั้งยกพระหัตถ์ข้างเดียวและสองข้าง ทำด้วยโลหะและปูนปั้น
๔. ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ ทำด้วยโลหะและปูนปั้น
๕. ปางถวายเนตร ทำด้วยโลหะ
๖. ปางสมาธิ ทำด้วยโลหะ ปางนี้มีน้อยทำแต่มารวิชัยเป็นพื้น
สมัยอู่ทอง
( พ.ศ. ๑๗๐๐ - ๒๐๐๐ )
พระพุทธรูปสมัยนี้ ได้รับอิทธิพลศิลปผสมผสานกันระหว่างศิลปร่วม ๓ รูปแบบ ได้แก่ ศิลปทวารวดี ศิลปขอมหรือลพบุรี และศิลปสุโขทัย ดังนั้น พระพุทธรูปสมัยนี้ จึงจัดออกได้ตามอิทธิพลศิลปเป็น ๓ แบบ คือ
๑. อิทธิพลศิลปทวารวดี และขอม ผสมกัน ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘
๒. อิทธิพลศิลปขอมหรือลพบุรีมากขึ้น ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐ นักโบราณคดีเรียกว่า "อู่ทองหน้าแก่"
๓. อิทธิพลศิลปสุโขทัยเข้ามาปะปน ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐ นักโบราณคดีเรียกว่า "อู่ทองหน้าหนุ่ม"
ลักษณะพระพุทธรูปสมัยอู่ทอง
พระพุทธรูปสมัยอู่ทองมีลักษณะงดงามและกล้าหาญอย่างนักรบ เข้มแข็งดูน่าเกรงขาม พระวรกายสูงชะลูด พระเศียรมีสัณฐานรูปคล้ายบาตรคว่ำ พระเกศาเป็นหนามขนุนละเอียดกว่าสมัยสุโขทัยมาก มีไรพระศกเป็นกรอบรอบวงพระพักตร์ พระพักตร์แบน พระหนุกว้างเป็นรูปคางคน พระเกตุมาลาเป็นเปลวบ้าง เป็นแบบฝาชีครอบบ้าง พระนลาตกว้าง สังฆาฏิสั้นเหนือพระถันคล้ายสมัยเชียงแสนสิงห์หนึ่งก็มี ส่วนใหญ่สังฆาฏิจะแบนยาวลงมาจรดพระนาภี ปลายสังฆาฏิตัดตรงก็มี เฉียงก็มี เป็นแฉกเขี้ยวตะขาบก็มี มีขอบอันตรวาสก(สะบง)ชัดเจน นั่งขัดสมาธิราบเป็นส่วนใหญ่หรือขัดสมาธิฺเพชรก็มี(มีน้อย) ปางมารวิชัยหรือปางสมาธิ(มีน้อย) ฐานเป็นแบบหน้ากระดาน ๑ - ๒ ชั้นมีสันเกลี้ยงแอ่นเข้าข้างใน และมีทั้งฐานบัวคว่ำบัวหงาย หรือบัวหงายอย่างเดียวอีกด้วย
สมัยศรีอยุธยา
(ระหว่าง พ.ศ. ๑๘๙๓ - ๒๓๒๕)
พระพุทธรูปสมัยนี้ เป็นของช่างฝีมือช่างไทยครั้งสมัยพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานี ทำแบบอย่างต่างกันเป็น ๒ ยุค ยุคแรกนิยมทำตามแบบขอม แต่เอาอย่างขอมเฉพาะวงพระพักตร์เท่านั้น ยุคนี้เรียกว่าฝีมือช่างสมัยอู่ทอง นับเวลาตั้งแต่ก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยามาจนถึงแผ่นดินพระบรมไตรโลกนารถ (พ.ศ. ๒๐๓๑)
ลักษณะ เกตุมาลายาว เส้นพระศกละเอียด มีไรพระศกเป็นกรอบรอบวงพระพักตร์ พระหนุป้านเป็นรูปคางคน สังฆาฏิยาว ชายอันตรวาสกข้างบนเป็นสัน ขัดสมาธิราบ ฐานหน้ากระดานเป็นร่องและแอ่นเข้าไปข้างใน ลักษณะเหมือนกันทั้งนั้น ต่างแต่ในชั้นหลังมาทำพระพักตร์ยาวกว่าชั้นก่อนเท่านั้น
ยุคหลังตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (พ.ศ. ๒๐๓๔ จน พ.ศ. ๒๓๒๕) ลักษณะ ทำวงพระพักตร์และเกตุมาลาตามแบบอย่างสมัยสุโขทัยทั้งนั้น ต่างแต่โดยมากมีไรพระศก และสังฆาฏิใหญ่ กับถ้าทรงเครื่อง เกตุมาลาทำเป็นอย่างก้นหอยหลายๆชั้นบ้าง เป็นอย่างมงกุฎเทวรูปแบบสมัยลพบุรีบ้างเท่านั้น ทำเป็นปางต่างๆ ดังนี้คือ
๑. ปางไสยา ทำด้วยโลหะและปูนปั้น
๒. ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ และสมาธิเพชร(แต่มีน้อย) ทำด้วยศิลา โลหะ และปูนปั้น
๓. ปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ ทำด้วยศิลา โลหะ และปูนปั้น
๔. ปางประทานอภัย มีทั้งอย่างยกพระหัตถ์ข้างเดียวและสองข้าง ทำด้วยโลหะ
๕. ปางปาลิไลยกะ ทำด้วยโลหะและปูนปั้น
๖. ปางลีลา ทำด้วยโลหะ
สมัยรัตนโกสินทร์
( ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๒๕ ลงมา )
พระพุทธรูปสมัยนี้ แบบอย่างเป็นลักษณะพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยและศรีอยุธยาผสมกัน ต่างแต่เกตุมาลาสูงกว่าสมัยสุโขทัยและอยุธยา กับเส้นพระศกละเอียดกว่า ขนาดเล็กชอบทำตามอย่างสมัยเชียงแสน แต่มักจะผสมกันไม่เหมือนลักษณะของพระพุทธรูปเชียงแสนแท้
ในรัชกาลที่ ๑ มิใคร่จะได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นใหม่ เพราะทรงพระราชศรัทธาให้เชิญพระพุทธรูปโบราณ ซึ่งทิ้งทรุดโทรมอยู่ที่เมืองเหนือมาบูรณะปฏิสังขรณ์ตั้ง ๑๒๐๐ องค์เศษ พระพุทธรูปที่เป็นพระประธานอยู่ในวัดสำคัญๆในกรุงเทพฯ จึงเป็นพระเก่าสมัยอื่นซึ่งเชิญมาจากที่อื่นเป็นพื้น มีพระพุทธรูปทรงสร้างในรัชกาลที่ ๑ มีลักษณะงามดีอยู่องค์หนึ่งคือพระคันธารราฐ ซึ่งตั้งในพระราชพิธีแรกนาและขอฝนอยู่จนทุกวันนี้ กับพระประธานในวัดมหาธาตุเป็นพระปั้นในรัชกาลที่ ๑ เป็นแบบอย่างที่นับว่าลักษณะงาม มีพระพุทธรูปซึ่งสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖ อีกหลายองค์ ลักษณะเป็นพระแบบสมัยอยุธยาและสุโขทัยผสมกันดังกล่าวแล้ว
พระพุทธรูปสมัยนี้ ทำเป็นปางต่างๆ คือ
๑. ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ ทำทั้งด้วยโลหะและปูนปั้น
๒. ปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ ทำทั้งด้วยศิลาและปูนปั้น
๓. ปางประทานอภัย มีทั้งยกพระหัตถ์ข้างเดียวและสองข้าง ทำด้วยโลหะและปูนปั้น
๔. ปางไสยา ทำทั้งด้วยโลหะและปูนปั้น
๕. ปางขอฝน ทำด้วยโลหะ
ปางต่างๆที่กล่าวนี้ เป็นพระขนาดใหญ่ทั้งนั้น ขนาดเล็กยังมีปางอื่นๆทำตามพุทธอิริยาบถในเรื่องพุทธประวัติอีกมากมายผสมกับปางเก่าและปางใหม่ที่คิดขึ้นในรัชกาลที่ ๓ ถึง ๔๐ ปาง แต่ลักษณะคงเป็นอย่างเดียวกันทั้งนั้น (อยากทราบว่ามีปางอะไรบ้าง จงดูหนังสือตำนานพุทธเจดีย์สยาม ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ นั้นเถิด)
ในสมัยรัชกาลที่ ๓ นี้เอง พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด พระองค์ทรงเป็นผู้ิเริ่มสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามสมุทรทรงเครื่องใหญ่อย่างกษัตริย์ซึ่งได้รับอิทธิพลศิลปมาจากสมัยอยุธยาตอนปลาย มีการประดับกระจกหรืออัญมณีสีต่างๆลงในศิราภรณ์เป็นประกายแวววับ
ในสมัยนี้ยังสร้างพระพุทธรูปแบบจีวรดอก คือทำจีวรให้มีลวดลายดอกดวงเพื่อความงดงามแทนจีวรแบบธรรมดา รวมทั้งมีการลงรักชาดและปิดทองอีกด้วย
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงโปรดให้ปรับปรุงการสร้างพระพุทธรูปให้มีลักษณะคล้ายมนุษย์สามัญมากขึ้น เช่น ไม่มีพระเกตุมาลา และทำจีวรเป็นริ้วอย่างของจริง
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ โปรดให้แก้ไขพุทธลักษณะให้เหมือนมนุษย์สามัญมากขึ้น แต่ยังคงรักษาพุทธลักษณะที่สำคัญๆไว้ เช่น พระเกตุมาลา พระรัศมีแบบเปลว พระเกศาขมวดเป็นปม ใบพระกรรณยาว คล้ายกับศิลปแบบพระพุทธรูปคันธารราฐ
ในสมัยรัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระประสงค์ที่จะเฉลิมฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ทรงโปรดให้สร้างพระพุทธรูปในรัชกาลของพระองค์ โดยมอบหมายให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบพระพุทธรูปปางลีลาคล้ายสมัยสุโขทัยแต่มีลักษณะของมนุษย์สามัญยิ่งขึ้นประดิษฐานไว้ ณ พุทธมณฑล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม